ความแตกต่างหระหว่างโบสถ์และวิหาร

     คุณเคยสงสัยบ้างหรือปล่าวครับว่าโบสถ์ หรือ อุโบสถ ต่างจากวิหารอย่างไร…เวลาคุณไปทำบุญที่วัดแล้วมีคนถามคุณว่า “โบสถ์ไปทางไหนคะ” คุณจะชี้ไปทางไหน?…แล้วคุณจะรู้ได้อย่างไรว่าที่คุณบอกทางคนอื่นเขาไปนั้นคือโบสถ์หรือว่าวิหาร?…

วิธีการที่จะสังเกตหรือแยกความแตกต่างระหว่างโบสถ์กับวิหารคือ โบสถ์(อุโบสถ) จะมีซุ้มเสมาหรือใบเสมา(บางคนอาจเรียกว่า สีมา )ล้อมรอบอยู่ ส่วน วิหารนั้นจะไม่มีใบเสมาล้อมรอบอยู่ ดังนั้นเมื่อเวลาคุณไปที่วัดแล้วอยากรู้ว่าหลังไหนคือโบสถ์หลังไหนคือวิหาร ก็ให้สังเกตดูว่าอาคารไหนมีซุ้มเสมาหรือใบเสมาล้อมรอบอยู่ ก็คือโบสถ์นั่นเอง

ใหน ๆ ก็พูดถึงเรื่องของโบสถ์กับวิหารแล้ว ผมก็จะขอพูดถึงความเป็นมาของโบสถ์กับวิหารสักหน่อย…(หากผิดพลาดอย่างไรก็ช่วยแนะนำด้วยนะครับ) คือในสมัยพุธกาลนั้นยังไม่มีวัดเกิดขึ้นอย่างชัดเจนแบบในปัจจุบัน แต่มีคำว่าวิหาร เกิดขึ้นแล้ว คือโดยความหมายของคำว่า วิหารนั้นหมายถึงที่อยู่ที่อาศัย คุณคงเคยคุ้น ๆ กับคำว่า เชตวันวิหาร หรือสวนเจ้าเชตในหนังสือเรียนสมัยมัธยมนะครับ ที่เขาเขียนในหนังสือว่ามีเศรษฐีชื่อ เจ้าเชต ถวายที่ดินเป็นพุธบูชาแด่พระพุทธเจ้าเพื่อให้พระองค์ใช้สำหรับเป็นที่อยู่และสังสอนธรรมะ ซึ่งถือเป็นวัดแห่งแรกในพุทธศาสนา นั่นก็คือที่มาของคำว่าวิหารในปัจจุบัน….ซึ่งหมายถึงที่อยู่ของพระพุทธเจ้า…ในปัจจุบันวิหารคือสถานที่ที่ประดิษฐานพระพุทธรูปหรือสร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญ ๆ ที่สร้างขึ้นเพื่อให้ประชาชนกราบไหว้ ซึ่งก็เปรียบเสมือนเป็นที่อยู่ของพระพุทธเจ้าในสมัยพุทธกาล ส่วนโบสถ์หรืออุโบสถนั้นสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประกอบสังฆกรรมของพระสงค์เท่านั้น

ในสมัยโบราณนั้นในประเทศไทยนิยมสร้างวัดที่มีวิหารใหญ่กว่าโบสถ์ จะเห็นได้ว่า ในสมัยโบราณนั้นให้ความสำคัญกับการสร้างวิหารมากกว่าโบสถ์ ซึ่งต่างจากปัจจุบัน…ท่านสามารถสังเกตได้เวลาไปเที่ยวตามวัดเก่า ๆ จะเห็นว่าวิหารมักจะใหญ่กว่าโบสถ์เสมอ ซึ่งจะสร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญ ๆ และบางวัดอาจจะไม่มีโบสถ์เลยก็ได้….เพราะในสมัยโบราณนั้นโบสถ์สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ประกอบศาสนกิจของสงฆ์เพียงอย่างเดียว เช่น อุปสมบท หรือสังฆกรรมต่าง  ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับบุคคลทั่ว ๆ ไปอย่างเรา ๆ โบสถ์จึงมีความสำคัญน้อยกว่าวิหารเพราะผู้ใช้งานมีเพียงพระสงค์ไม่กี่รูป ซึ่งต่างจากวิหารที่จะใช้ประกอบพีธีต่าง ๆ ที่มีอุบาสก อุบาสิกา บุคคลทั่ว ๆ ไปเข้าไปร่วมประกอบพิธีด้วย จึงต้องสร้างให้มีขนาดที่ใหญ่รองรับคนจำนวนมาก ๆ ….ในชนบทตามจังหวัดบางหมู่บ้านอาจมีวัดอยู่หลายวัดแต่อาจมีโบสถ์อยู่ในระแวกนั้นเพียงแห่งเดียว และไม่จำเป็นต้องอยู่ในวัดก็ได้  อาจจะอยู่กลางป่า หรือกลางทุ่งนา แต่ที่สำคัญต้องมีเสมาที่กำหนดขอบเขตชัดเจน ส่วนในปัจจุบัน นิยมสร้างโบสถ์กับวิหารรวมกัน(คือสร้างให้เป็นโบสถ์และวิหารในหลังเดียวกัน) ก็จะเห็นว่าทุกวัดมีโบสถ์หมดทุกวัด และคนทั่ว ๆ ไปก็สามารถเข้าไปประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ในโบสถ์ได้ด้วย…

พระอุโบสถและพระวิหาร

พระอุโบสถ ชื่อเรียกอาคารซึ่งใช้เป็นสถานที่เฉพาะสำหรับพระภิกษุสงฆ์ทำสังฆกรรม คำว่า “อุโบสถ” มีความหมายที่เกี่ยวเนื่องกับทางพระพุทธศาสนาใน ๔ ลักษณะ คือ

    1. ๑. หมายถึงวันพระ ซึ่งเป็นวันที่พระสงฆ์และคฤหัสถ์มาประชุมกันเพื่อแสดงธรรมและรับฟังธรรม
    1. ๒. หมายถึงการแสดงพระปาฎิโมกข์ของพระสงฆ์ตามพระธรรมวินัยทุกๆ ๑๕ วัน
    1. ๓. หมายถึงการรักษาศีล ๘ ของเหล่าฆราวาสในทุกๆวันพระ
    1. ๔. หมายถึงสถานที่ซึ่งพระสงฆ์ทำสังฆกรรม ร่วมกัน

คำว่าอุโบสถจึงเป็นการรวมเอาความหมายของพิธีกรรมมาใช้เรียกสถานที่ซึ่ง ใช้ทำพิธีกรรมนั้นๆ เดิมทีเรียกกันว่า “โรงพระอุโบสถ” แต่ต่อมาเรียกให้สั้นเข้าว่า “พระอุโบสถ” และในที่สุดก็เรียกกันเป็นภาษาปากว่า “โบสถ์” ในบางพื้นที่ก็มีคำเรียกพระอุโบสถด้วยชื่ออื่น เช่น ภาคอีสาน เรียกว่า “สิม” ซึ่งที่จริงแล้วก็มีความหมายใกล้เคียงกัน เพราะ “สิม” กลายเสียงมาจากคำว่า “สีมา” ที่หมายถึงพื้นที่ที่ใช้ทำสังฆกรรมนั่นเอง

ขนาดและรูปแบบของพระอุโบสถไม่มีกำหนดไว้ในพระวินัย เพราะพระวินัยกำหนดสีมาให้เป็นเครื่องกำหนดขอบเขตสำหรับทำสังฆกรรม ส่วนพระอุโบสถเป็นเพียงอาคารที่สร้างคร่อมพื้นที่สีมาเพื่อกันแดดกันฝน พระวินัยจึงให้ความสำคัญและมีกฎเกณฑ์เกี่ยวกับสีมาเท่านั้น

พระวิหาร ชื่อเรียกอาคารที่ใช้เป็นที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาร่วมกันระหว่างพระภิกษุ สงฆ์กับฆราวาส เช่น งานถวายผ้าพระกฐิน งานทอดผ้าป่า งานทำบุญพิธีต่างๆ ฯลฯ แต่คำว่า “พระวิหาร” หรือ “วิหาร” นั้นเดิมมีความหมายว่าเป็น “ที่อยู่” คือที่อยู่ของหมู่พระสงฆ์ หรืออย่างที่เรียกและเข้าใจในปัจจุบันว่า “กุฏิ” นั่นเอง ซึ่งความจริงแล้ว กุฏิก็คือ “กุฎี” ที่หมายถึงที่อยู่อาศัยของพระภิกษุในครั้งสมัยพุทธกาล ดังเช่น “พระคันธกุฎี” ที่ประทับของพระพุทธเจ้า หรือ “กเรริกุฎี” “โกสัมพกุฎี”ที่ประทับของพระอัครสาวกซ้ายขวาของพระพุทธองค์ ซึ่งอนาถบิณฑิตเศรษฐีได้จัดสร้างถวายให้ เป็นต้น ด้วยเหตุที่พระวิหารและกุฎีมีความหมายที่เหมือนกันนี่เอง บ่อยครั้งจึงมักจะใช้เรียกเป็นคำคู่กันเสมอในสังคมชาวพุทธของไทย ดังเช่นในจารึกป่ามะม่วง หลักที่ ๔ ด้านที่ ๒ ที่ว่า “……..รับสั่งให้นายช่าง ปลูกกุฎีวิหารระหว่างป่ามะม่วงอันมีในทิศประจิม……”. เป็นต้น

ตำแหน่งที่ตั้งอาคาร

พระอุโบสถในยุคต้นๆนี้มักมีขนาดเล็กมาก บางแห่งจุพระสงฆ์ได้ไม่เกิน ๑๐ รูป (เช่นเดียวกับ “สิม” ในแถบอีสานที่มีขนาดเล็กมาก) เพราะเพียงพอสำหรับจำนวนพระภิกษุในการทำสังฆกรรมทั่วไป มีเพียงกรณีพระภิกษุต้องสังฆาฑิเสส (ซึ่งมีน้อยมาก) จึงต้องใช้พระสงฆ์ร่วมทำพิธีไม่น้อยกว่า ๒๐ รูป ดังนั้นการที่วัดในสมัยแรกๆของไทยมีขนาดค่อนข้างเล็ก แสดงว่าการบวชในสมัยนั้นมีกันไม่มากนัก บทบาทของพระอุโบสถจึงมีน้อย ตำแหน่งที่ตั้งของพระอุโบสถในระยะนี้ ไม่ได้วางอยู่บนแนวแกนหลักประธาน สำคัญของผัง แต่จะวางไว้ ณ ที่มุมใดมุมหนึ่งในส่วนท้ายของผังเท่านั้น

ในสมัยโบราณนั้นถึงแม้จะมีการสร้างวัดเป็นจำนวนมากมาย แต่กลับมีเพียงบางวัดเท่านั้นที่มีโรงพระอุโบสถ นอกจากจะเป็นเพราะมีคนบวชเป็นพระภิกษุไม่มากนักแล้ว อีกสาเหตุหนึ่งน่าจะมาจากการที่คนนิยมสร้างวัดขึ้น ก็เพียงเพื่อใช้เป็นที่เก็บรักษาอัฐิธาตุของบรรพบุรุษเท่านั้น โดยมีการสร้างพระสถูปเจดีย์ขึ้นเพื่อบรรจุพระบรมธาตุหรือศาสนวัตถุสำคัญไว้ ส่วนบน แล้วบรรจุอัฐิธาตุของผู้เป็นต้นสกุลหรือสมาชิกในสกุลไว้บริเวณส่วนล่างของ พระเจดีย์นั้น พร้อมทั้งสร้างพระวิหารไว้ด้านหน้าพระเจดีย์เพื่อใช้เป็นที่สำหรับให้เครือ ญาติทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ ซึ่งวัตถุประสงค์เหล่านี้ล้วนไม่เกี่ยวข้องกับการทำสังฆกรรมของพระสงฆ์ โดยตรง พระอุโบสถจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องสร้าง พระภิกษุสงฆ์ซึ่งประจำแต่ละวัดเมื่อจะทำสังฆกรรม ก็มักอาศัยการไปชุมนุมรวมกัน ณ ที่วัดใดวัดหนึ่งซึ่งมีพระอุโบสถในบริเวณหรือละแวกที่ใกล้เคียงนั้นทำ พิธีกรรม

ต่อมามีคนบวชพระมากขึ้น เพราะศาสนาเจริญขึ้นและเกิดประเพณีการบวชเรียนเพิ่ม จากเดิมซึ่งมีแต่การบวชตลอดชีวิต ทำให้ความต้องการพระอุโบสถมีมากขึ้นและเพิ่มบทบาทของพระอุโบสถตั้งแต่สมัย อยุธยาตอนต้นเรื่อยมา ด้วยขนาดที่ใหญ่โตขึ้น ตำแหน่งที่ตั้งก็มาอยู่ตำแหน่งสำคัญของผัง คืออยู่ในแกนประธาน

สมัยอยุธยาตอนกลาง พระอุโบสถเพิ่มบทบาทขึ้นจนเข้าไปสวมแทนตำแหน่งที่ตั้งของพระวิหาร คือด้านหน้าเจดีย์ประธาน ส่วนพระวิหารลดบทบาทลง ถูกย้ายไปอยู่ด้านหลัง ด้านข้าง หรือตัดออกไปเลย
สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น บทบาทและความสำคัญของพระอุโบสถเพิ่มขึ้น จนกลายเป็นหลักประธานของวัด แทนพระเจดีย์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนพระพุทธองค์ในที่สุด เพราะพระอุโบสถสามารถใช้ประโยชน์ใช้สอยและมีสัญลักษณ์แทนพระพุทธองค์คือพระ ประธานด้วย

บทบาทของพระอุโบสถถึงแม้ว่าจะไม่ได้ถูกวางเป็นกฎเกณฑ์ตายตัวเฉพาะ แต่สิ่งที่สำคัญก็คือการทำให้เกิดคุณค่าในทางสถาปัตยกรรมในลักษณะที่แตกต่าง กัน สามารถสื่อหรือสะท้อนให้ชนรุ่นหลัง สามารถประเมินแนวความคิดของคตินิยมในแต่ละยุคสมัยได้อย่างชัดเจน

ประเภทของพระอุโบสถ

ในวิถีธรรมเนียมปฏิบัติของไทย นิยมสร้างพระอุโบสถอยู่ ๒ ประเภท คือ

    1. ๑. พระอุโบสถในน้ำ หรือเรียกอย่างภาษาปากว่า “โบสถ์แพ” หรือ “โบสถ์น้ำ” หมายถึงพระอุโบสถที่สร้างขึ้นในน้ำ เพื่อใช้น้ำเป็นสิ่งกำหนดเขตแดนเพื่อทำสังฆกรรม แนวความคิดในการใช้สีมาลักษณะนี้ ในประเทศไทยมีอยู่บ้างบางพื้นที่แต่ไม่ค่อยมีมากนัก
    1. ๒. พระอุโบสถบนบก หมายถึงพระอุโบสถที่สร้างขึ้นบนผืนดิน มีการกำหนดเขตสีมาด้วยใบเสมา เป็นแบบอย่างที่พบเห็นได้ทั่วๆไป

ประเภทของพระวิหาร

พระวิหารนอกจากจะมีความหมายที่หลากหลายแล้ว ยังมีรูปแบบประเภทและหน้าที่รวมทั้งตำแหน่งที่ตั้งอาคารที่แตกต่างกันออกไป อีกมากมาย โดยเฉพาะในยุคสมัยรัตนโกสินทร์นี้มีปรากฏรวมถึง ๘ ประเภทด้วยกัน คือ

วิหาร หมายถึง อาคารที่เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธปฏิมา โดยเป็นพระวิหารหลักประธานหรือพระวิหารรองก็ได้ เป็นการเรียกอย่างกว้างๆไม่เฉพาะเจาะจง แต่โดยบทบาทหน้าที่แล้วมักใช้เรียกอาคารที่ใช้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป องค์สำคัญ พระวิหารประเภทนี้ถูกกำหนดให้เป็นหลักประธานของวัดเองโดยตรงแทนพระเจดีย์ หรือพระปรางค์ หรือตั้งเป็นเอกเทศที่ไม่อยู่ในฐานะองค์ประกอบร่วมในเขตพุทธาวาสของวัด แต่ตั้งขึ้นเพื่อหมายให้เป็นอย่าง “พระมหาสุทธาวาส” เช่น พระวิหารพระมงคลบพิตร จ.อยุธยา, พระวิหาร วัดสุทัศน์ฯ กรุงเทพฯ

วิหารหลวง หมายถึง พระวิหารที่ทำหน้าที่เป็นองค์ประกอบรองร่วมในผังเขตพุทธาวาส ที่ใช้เสริมให้หลักประธานของวัดไม่ว่าจะเป็นพระเจดีย์ พระปรางค์ หรือพระมณฑปให้มีความสำคัญยิ่งขึ้น การเรียกชนิดของพระวิหารว่าเป็น “พระวิหารหลวง” นั้น มีหลักเกณฑ์อยู่ว่าพระวิหารนั้นจะต้องตั้งอยู่ด้านหน้าหรือด้านหลัง “พระเจดีย์” หรือ “พระปรางค์” หรือ “พระมณฑป” อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น เช่น พระวิหารหลวง วัดพระศรีสรรเพชญ์ อยุธยา, พระวิหารหลวง วัดมหาธาตุ สุโขทัย

วิหารทิศ หมายถึง กลุ่มพระวิหาร 3 หลังที่มีลักษณะและขนาดที่เท่ากัน สร้างขึ้นเพื่อร่วมประกอบในผัง โดยวางล้อมรอบศูนย์กลางคือพระเจดีย์หรือพระปรางค์ เพิ่มจากพระวิหารหลวงหรือพระอุโบสถที่อยู่ด้านหน้า นิยมสร้างระเบียงคดชักล้อมเชื่อมต่อส่วนท้ายวิหาร ส่วนใหญ่เป็นพระอารามสำคัญ เช่นมีพระมหาธาตุเป็นต้น แนวคิดนี้น่าจะได้รับแรงบันดาลใจจากสถาปัตยกรรมขอม เช่น วิหารทิศวัดพระปฐมเจดีย์ นครปฐม, วิหารพระพุทธชินราช พิษณุโลก

วิหารราย หมายถึงพระวิหารขนาดย่อมที่สร้างขึ้น เพื่อใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา แต่ไม่ได้อยู่ในฐานะพระวิหารประธานในวัด พระวิหารรายนี้จะไม่กำหนดจำนวนและตำแหน่งแน่นอน แต่ส่วนใหญ่ไม่อยู่ในแกนประธานและมีขนาดย่อมกว่าพระวิหารหลวงเสมอ พระวิหารรายเหล่านี้สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ทำบุญพิธี

พระวิหารน้อย หมายถึง พระวิหารที่สร้างขึ้นเพิ่มเติมในผัง เพื่อใช้เป็นอาคารสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปโดยเฉพาะ ด้วยเหตุจากวัดมีพระพุทธรูปองค์สำคัญ หรือมีบุคคลมีจิตศรัทธาสร้างถวายวัดเพิ่มภายหลัง วิหารน้อยวัดใหญ่ชัยมงคล อยุธยา, วิหารน้อยวัดพุทไธสวรรค์ อยุธยา

พระวิหารแกลบ หมายถึงพระวิหารที่มีขนาดพอประดิษฐานองค์พระพุทธรูป หรือรูปหล่อพระภิกษุที่มีผู้นับถือศรัทธามากอีกทั้งมรณภาพไปแล้วเพื่อใช้ เป็นสิ่งรำลึกถึงและกราบไหว้บูชา ขนาดประมาณ ๑.๕๐ x ๒.๕๐-๓.๐๐ เมตร เช่น วิหารแกลบ วัดพุทไธสวรรค์ อยุธยา

พระวิหารคด ชื่อเรียกพระวิหารที่ตั้งอยู่เฉพาะบริเวณตรงมุมของแผนผังเท่านั้น เนื่องเพราะเป็นพระวิหารที่ออกแบบแผนผังให้เป็นรูปหักศอก แนวคิดน่าจะเพื่อใช้เป็นสิ่งกำหนดขอบเขตล้อมเขตสำคัญไว้ เช่น วิหารคด วัดพระเชตุพนฯ กรุงเทพมหานคร

พระวิหารยอด หมายถึงพระวิหารที่สร้างขึ้นเพื่อใช้ประดิษฐานสิ่งสำคัญ เช่น พระบรมธาตุหรือพระพุทธรูปสำคัญ เหตุที่เรียกว่า “พระวิหารยอด” ก็เนื่องด้วยเป็นอาคารที่ออกแบบเป็นเรือนมียอด เช่น วิหารยอด วัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรุงเทพฯ

นอกจากพระวิหารทั้ง ๘ ประเภทนี้แล้ว ยังมีชื่อเรียกพระวิหารอีกประเภทหนึ่ง คือ “พระวิหารเขียน” ที่เรียกว่าพระวิหารเขียน เพราะมีการเขียนภาพชาดกหรือพุทธประวัติประดับอยู่ภายใน เช่น พระวิหารเขียนวัดป่าโมก จ.อ่างทอง, โบสถ์น้ำวัดพุทธเอ้น เชียงใหม่

ลักษณะและรูปแบบทางสถาปัตยกรรมของพระอุโบสถและพระวิหาร

ลักษณะและรูปแบบทางสถาปัตยกรรมตลอดจนองค์ประกอบประดับตกแต่ง ระหว่างพระวิหารและพระอุโบสถ แทบจะกล่าวได้ว่าไม่มีความแตกต่างกันเลย อาคารทั้ง ๒ ประเภทส่วนใหญ่ต่างใช้กฎเกณฑ์ ระเบียบแบบแผนเดียวกันทุกประการ ความแตกต่างอยู่ที่การใช้สอย กล่าวคือพระวิหารใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาระหว่างพระภิกษุสงฆ์กับฆราวาส ส่วนพระอุโบสถใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาระหว่างหมู่พระสงฆ์ด้วยกันเท่านั้น ความเป็นพระอุโบสถอาศัยใบเสมา เป็นเครื่องชี้แสดงรูปแบบลักษณะของพระอุโบสถ และพระวิหารของไทย สามารถแบ่งแยกเป็นประเภทหลักๆ ควบคู่ไปกับแผนผังอาคารได้เป็น ๗ รูปแบบดังนี้ คือ

    1. ๑. แบบมีปีกนก หมายถึง ลักษณะอาคารที่มีผังรูป ๔ เหลี่ยมผืนผ้า ภายในตั้งแนวเสาประธานขึ้นเพื่อรับโครงจั่วประธาน ก่อนชักปีกนกออกคลุมพื้นที่ที่เหลือรอบด้าน ระดับหลังคาอาจทำเป็นมุขเดียวหรือมุขลดหลายระดับก็ได้
        1. ๑.๑ แบบผังทึบ หมายถึงอาคารที่แนวขอบรอบนอกสุดนั้นก่อเป็นผนังทึบ มีช่องหน้าต่าง-ประตูเปิดเป็นช่วงๆ ลักษณะอาคารรูปแบบอย่างนี้เรียกกันทั่วไปว่า “ทรงโรง”อุโบสถทรงโรง วัดมหาธาตุ กรุงเทพมหานคร, วิหารทรงโณง วัดชุมพบนิกายาราม อยุธยา
      1. ๑.๒ แบบมีเสาพะไลรอบ หมายถึง อาคารที่แนวขอบรอบนอกสุดตั้งเป็นแนวเสารับปีกนกชายคาโดยรอบ ส่วนผนังอาคารอยู่เลยถัดเข้าไปอีกแนวหนึ่ง ทำให้อาคารมีระเบียงทางเดินโดยรอบ เช่น อุโบสถแบบมีพะไลรอบ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม, วิหารแบบมีพะไลรอบ วัดราชนัดดาราม
    1. ๒. แบบทรงคฤห์ หมายถึง ลักษณะอาคารที่มีผังรูป ๔ เหลี่ยมผืนผ้า มีหลังคาที่คลุมอาคาร ทำเป็นหลังคาจั่วอย่างเรือน ด้านหน้าและหลังไม่ทำปีกนกคลุม อาศัยผืนผนังก่อยันจากพื้นถึงอกไก่ หรืออาจทำเป็นแผงจั่วมีหน้าบันเป็นเครื่องไม้
        1. ๒.๑ แบบหลังคาตอนเดียว หมายถึง อาคารที่ทำหลังคาผืนเดียวคลุมยาวแต่ละข้างนับแต่หัวเรือนถึงท้ายเรือน อาคารลักษณะนี้จึงมีเพียงมุขเดียวทั้งด้านหน้าและหลัง เช่น อุโบสถทรงคฤห์วัดเขาขุนพนม นครศรีธรรมราช, วิหารทรงคฤห์ วัดศรีสุดาราม ธนบุรี
      1. ๒.๒ แบบมุขลด หมายถึง อาคารที่ลดทอนหลังคาทั้งด้านสกัดหน้าและหลังให้สั้นลง โดยการชักเป็นมุขลด ซึ่งแต่ละด้านอาจจะลดลงเป็นชั้นๆเป็น ๒-๓ ลด แล้วแต่ขนาดความยาวของอาคารนั้นๆ เช่น อุโบสถแบบมุขลด วัดสระบัว เพชรบุรี, วิหารแบบมุขลด วัดดุสิตาราม ธนบุรี
    1. ๓. แบบมุขเด็จ หมายถึง อาคารที่มีผังรูป ๔ เหลี่ยมผืนผ้า มีหลังคาคลุมอย่างทรงคฤห์ เฉพาะด้านสกัดหน้าและหลังชักผังออกเป็นโถงสี่เหลี่ยมขนาดเล็กกว่าอาคาร เรียกว่า “มุขเด็จ” โดยทำหลังคาล้อตามรูปทรงหลังคาเรือนประธานและยกฐานสูง ถ้าไม่ยกฐานเรียกว่า “มุขโถง” มี ๒ ลักษณะ
        1. ๓.๑ มุขเด็จอย่างมุขลด หมายถึง มุขเด็จที่ลดระดับสันหลังคาให้ต่ำลงอย่างการลดแบบปกติ เช่น เช่น อุโบสถแบบมุขเด็จวัดหน้าพระเมรุ อยุธยา , วิหารแบบมุขโถง วัดเกาะแก้ว เพชรบุรี
      1. ๓.๒ มุขเด็จอย่างมุขลดใต้ขื่อ หมายถึง มุขเด็จที่ลดระดับสันหลังคาให้ต่ำลงมาอยู่ใต้บริเวณขื่อของจั่วเรือนประธาน เช่น อุโบสถแบบมุขลดใต้ขื่อ วัดสิงห์ นนทบุรี ,วิหารแบบมุขลดใต้ขื่อ วัดสุทัศน์เทพวราราม
    1. ๔. แบบมีเฉลียง หมายถึง อาคารที่มีผังรูป ๔ เหลี่ยมผืนผ้า ทำหลังคาคลุมอย่างทรงคฤห์ เฉพาะด้านสกัดหน้า-หลัง หรือเฉพาะด้านหน้าหรือด้านหลังด้านใดด้านหนึ่งเพียงด้านเดียวต่อเป็นเฉลียง เฉลียงที่ต่อออกมานี้นิยมทำเป็น
        1. ๔.๑ แบบหลังคาจั่นหับ หมายถึง เฉลียงที่ทำหลังคาเป็นเพิงอย่างหมาแหงนคลุม โดยส่วนที่สูงนั้นจะวิ่งเข้าไปชนกับผนังเรือนของอาคาร ส่วนปลายใช้วิธีการตั้งเสารับ เช่น อุโบสถแบบจั่นหับ วัดดุสิตาราม อยุธยา, วิหารแบบจั่นหับวัดประดู่ทรงธรรม อยุธยา
        1. ๔.๒ แบบเรือนขวาง หมายถึง เฉลียงส่วนที่ต่อออกมาทั้งหน้า-หลัง ทำหลังคาทรงจั่วคลุม โดยแนวสันหลังคาขวางสันหลังคาของเรือนประธาน ทำให้ดูเหมือนเป็นเรือน ๓ หลัง เช่น อุโบสถแบบเรือนขวาง วัดมหาสมณาราม เพชรบุรี , วิหารแบบเรือนขวาง วัดสุวรรณาราม ธนบุรี
      1. ๔.๓ แบบมุขลด หมายถึง เฉลียงที่ทำหลังคาเป็นอย่างทรงคฤห์ล้ออย่างเรือนประธาน โดยทำเป็นมุขลดลงมาอีก ๑ ระดับ เช่น อุโบสถแบบมุขลด วัดสุนทริการาม กรุงเทพฯ, วิหารแบบมุขลดวัดเวฬุราชิน ธนบุรี
    1. ๕. แบบมุขประเจิด หมายถึง ลักษณะอาคารที่ออกแบบมุขลดให้มีลักษณะที่ดูเสมือนลอยออกจากผืนหลังคาปีกนก ที่คลุมอาคารทั้งด้านหน้าและหลัง ในบางท้องที่เรียกมุขลักษณะนี้ว่า “มุขชะโงก” หรือ “มุขทะลุขื่อ” เช่น อุโบสถแบบมุขประเจิด วัดราชบรรทม อยุธยา, วิหารแบบมุขประเจิด วัดพระบรมธาตุ นครศรีธรรมราช
    1. ๖. แบบตรีมุข หมายถึง ลักษณะอาคารที่ต่อมุขเพิ่มขึ้นจากด้านยาวด้านใดด้านหนึ่งของผังรูป ๔ เหลี่ยมผืนผ้าเดิม ทำให้อาคารหลังดังกล่าวมีหน้าจั่วขึ้น ๓ ด้าน เช่น อุโบสถแบบตรีมุข วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ , วิหารแบบตรีมุข วัดบรมวงศ์ อยุธยา
    1. ๗. แบบจัตุรมุข หมายถึง ลักษณะอาคารที่ออกแบบแผนผังและรูปทรงเรือนอย่างรูปกากบาท ทำให้อาคารมีมุขหรือหน้าจั่วหันออกทั้ง ๔ ทิศ ๔ ด้าน เช่น อุโบสถแบบจตุรมุข วัดบวรสถานสุทธาราม กรุงเทพฯ , วิหารแบบจตุรมุข วัดราชาธิวาส กรุงเทพฯ

ความแตกต่างของรูปแบบลักษณะระหว่างพระวิหารและพระอุโบสถ

แม้ว่าทั้งพระวิหารและพระอุโบสถต่างล้วนใช้รูปแบบลักษณะทางสถาปัตยกรรม ที่เป็นแบบอย่างเดียวกันหรือคล้ายกันก็ตาม หากแต่เมื่อใช้อาคารทั้ง ๒ ประเภทร่วมลงในแผนผังเดียวกันแล้ว ในบางยุคสมัยก็มีการสร้างความแตกต่างของอาคารทั้ง ๒ ประเภทในลักษณะต่างๆกัน ตามคตินิยมของยุคสมัยนั้นๆ ดังนี้

    1. ก. ลักษณะของรูปแบบอาคาร เช่น นิยมกำหนดรูปแบบอาคารเพื่อใช้กับอาคารทั้ง ๒ ประเภทให้ต่างกัน คือ
        • ในยุคสมัยสุโขทัย
            • พระวิหาร นิยมใช้รูปแบบอาคารอย่างมุขเด็จ ในขณะที่
            • พระอุโบสถ นิยมใช้รูปแบบอาคารแบบทรงโรง
            • เช่น วัดช้างล้อม จ.สุโขทัย ,วัดมหาธาตุ อ.เมือง จ.สุโขทัย
        • ในยุครัตนโกสินทร์
            • พระวิหาร นิยมใช้รูปแบบอาคารอย่างมุขลด ในขณะที่
            • พระอุโบสถ นิยมใช้รูปแบบอาคารอย่างมุขลด มีพะไลปีกนก
            • เช่น วัดอนงคาราม ธนบุรี, วัดประยุรวงศาวาส ธนบุรี
    1. ข. ขนาดอาคารและที่ตั้ง พระอุโบสถในยุคสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ มีความสำคัญกว่าพระวิหาร ดังนั้นพระอุโบสถจะมีขนาดที่ใหญ่กว่าพระวิหาร รวมทั้งตำแหน่งที่ตั้งของพระอุโบสถจะอยู่ตรงกึ่งกลางของแกนประธาน ส่วนพระวิหารวางประกบอยู่ด้านข้างเช่น วัดเทพธิดาราม , วัดราชนัดดารามแต่ต่อมาในยุคสมัยรัชกาลที่ ๔ พระวิหารกลับถูกเสริมบทบาทให้สำคัญกว่าพระอุโบสถ ดังนั้นขนาดของพระวิหารสมัยนี้จึงใหญ่กว่าพระอุโบสถ รวมทั้งตำแหน่งที่ตั้งก็จะวางไว้ส่วนหน้าสุดของพระเจดีย์ประธาน ส่วนพระอุโบสถไปวางอยู่ต่อท้ายพระเจดีย์ เฉกเช่นเดียวกับยุคสมัยอยุธยาตอนต้นที่มีคตินิยมเช่นนี้ ดังจะเห็นได้
      เช่น วัดมกุฎกษัตริยาราม , วัดโสมนัสวิหาร
    1. ค. องค์ประกอบอาคาร เช่น ในยุคสมัยรัชกาลที่ ๔ มีการใช้ลักษณะขององค์ประกอบอาคารให้แตกต่างกันระหว่างพระวิหารและพระอุโบสถ อาทิ พระวิหาร ใช้เสากลม ใช้เสาคู่ มีเสาร่วมใน เช่น วัดมกุฎกษัตริยาราม ขณะที่ พระอุโบสถ ใช้เสา 4 เหลี่ยม ใช้เสาเดี่ยว ไม่มีเสาร่วมใน เช่น วัดโสมนัสวิหาร
  1. ง. การใช้สี เช่น ในยุคสมัยรัชกาลที่ ๓ มีการใช้สีกระเบื้องหลังคาเพื่อแยกความแตกต่างระหว่างพระวิหารและพระอุโบสถ เช่น วัดราชนัดดาราม พระวิหารใช้หลังคาสีเขียว เดินเส้นกรอบสีส้ม พระอุโบสถใช้หลังคาสีส้ม เดินเส้นกรอบสีเขียว วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม พระวิหารใช้หลังคาสีน้ำเงิน เดินเส้นกรอบสีส้ม พระอุโบสถใช้หลังคาสีส้ม เดินเส้นกรอบสีเขียว

ขอขอบคุณ http://www.phuttha.com/%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%96%E0%B8%B2%E0%B8%99/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AD%E0%B8%B8%E0%B9%82%E0%B8%9A%E0%B8%AA%E0%B8%96%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3

ใส่ความเห็น

ใส่ความเห็น